Super Savings Fund (SSF) และ RMF

สรุปข้อมูลจัดตั้งกองทุน Super Savings Fund (SSF) และปรับเกณฑ์ RMF

ที่มา : กระทรวงการคลัง

*SSF ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
*ระยะเวลาถือลงทุน 10 ปีขึ้นไปนับจากวันที่ซื้อ ไม่มีขั้นต่ำ ไม่ต้องซื้อต่อเนื่อง
*นโยบายลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้
*ขายคืนได้กำไรไม่ต้องเสียภาษี (เมื่อลงทุนถูกหลักเกณฑ์)
*SSF เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ (RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ) ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

*RMF ปรับเกณฑ์ใช้สิทธิลดหย่อนได้เป็น 30% (จากเดิม 15%) แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
*ยกเลิกการซื้อขั้นต่ำต่อปี (จากเดิม 3% ของเงินได้หรือ 5,000 บาท)

*หรือฟังรายละเอียดใน Podcast EP185 ครับ

ฟังผ่าน Soundcloud https://soundcloud.com/charoenjit-c/prosperous-ep185-ssf-rmf

ฟังผ่าน Spotify https://open.spotify.com/episode/2VBGAUGhpZyB3CjZHOf8kw?si=5wLpswiZTCedJJxWX5q0aA

Advertisement

VIX Index คืออะไร?

จากสถิติย้อนหลัง 3 ปีพบว่าตลาดหุ้นจะมีความผันผวนมากที่สุดในเดือนตุลาคมเมื่อพิจารณาจาก VIX Index ที่จะมีการแกว่งขึ้นมากที่สุดในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ เช่นเดียวกับ SET index ที่จะแกว่งมากที่สุดในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆของปี (อ้างอิงจากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย)
.
VIX Index คืออะไร? วันนี้มาทำความรู้จักกัน
.
ค่าความผันผวน (Volatility) เป็นค่าที่ใช้ชี้วัดความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นว่ามีการแกว่งตัวมากน้อยขนาดไหน ยิ่งแกว่งตัวกว้างมาก ยิ่งมีความผันผวนมาก และถ้าราคาแกว่งตัวน้อย ก็ถือว่ามีความผันผวนน้อย
.
ยกตัวอย่างหุ้นสองตัวมีราคาเท่ากัน 10 บาท สมมติในช่วงหนึ่งเดือน หุ้น A ราคาแกว่งขึ้นลงระหว่าง 5 บาทถึง 15 บาท ส่วนหุ้น B ราคาแกว่งขึ้นลงระหว่าง 9 บาทถึง 11 บาท จากตัวอย่างนี้หุ้น A ย่อมมีความผันผวนมากกว่าหุ้น B (ผันผวนไม่ได้แปลว่าลงอย่างเดียว แต่ขึ้นๆลงๆ ยิ่งแกว่งมากกว่ายิ่งผันผวนมากกว่า)
.
ความผันผวนสามารถคำนวณด้วย 2 วิธีการ 1)คือคำนวณจากข้อมูลราคาในอดีตแล้วสะท้อนออกมาเป็นค่าความผันผวน ซึ่งอาจจะเป็นค่า ‘ส่วนเบียงเบนมาตรฐาน’ (หรือ Standard Deviation) ซึ่งการคำนวณความผันจากข้อมูลในอดีตนี้ จึงได้ออกมาเป็น ‘Historical Volatility’
.
วิธีที่ 2)มาจากความเข้าใจที่เรามีต่อราคาของ Options ว่าราคาของ Options สามารถประเมินมาจากปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเช่น ราคาปัจจุบัน ราคาใช้สิทธิ์ เวลา อัตราดอกเบี้ย และค่าความผันผวน (Black-Scholes Model) ดังนั้นถ้าเรามีราคาของ Options และมีข้อมูลของปัจจัยอื่นๆ เราสามารถ ‘derive’ ค่าความผันผวนได้จากข้อมูลจริง เรียกว่า ‘Implied Volatility’
.
VIX Index เป็นค่า Implied Volatility ที่ถูกคำนวณมาจาก สัญญา Options ของดัชนี S&P500 อายุ 30 วัน ดังนั้น VIX Index จึงสามารถใช้เป็นค่าคาดหวังความผันผวนที่จะเกิดขึ้นของตลาดหุ้นในอนาคตข้างหน้าได้
.
แม้ว่า VIX Index จะคำนวณมาจากข้อมูลของดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นดัชนีตลาดหุ้นของสหรัฐฯ แต่ VIX Index ก็ถูกใช้โดยนักลงทุน นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนทั่วโลก เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดความเสี่ยง ความกังวล ความกลัวที่เกิดขึ้นในตลาด สำหรับการตัดสินใจลงทุน หรืออาจะเรียกได้ว่าเป็น ‘Fear Gauge’ หรือ ‘Fear Index’
.
ในทางปฏิบัติ VIX Index ปรับจะขึ้นสะท้อนถึงความกลัวที่มากขึ้นขณะที่ตลาดหุ้นก็จะมีทิศทางปรับลดลง ในทางกลับกันช่วงที่ตลาดหุ้นดีๆ VIX Index ก็จะปรับตัวลงมานิ่งๆเช่นกัน

อ้างอิง https://www.investopedia.com/terms/v/vix.asp

หรือฟังผ่าน Podcast

ฟังผ่าน Soundcloud https://soundcloud.com/charoenjit-c/prosperous-ep143-vix-index-fear-gauge

ฟังผ่าน Spotify https://open.spotify.com/episode/2dz77K086RoEY6il7Kwh9g?si=u687zBhmRuCHB8BZ41G4MQ

รู้จักกับ Credit Rating สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้

จากบทความที่เขียนในเพจครับ…

การลงทุนในตราสารหนี้เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอและมีความเสี่ยงต่ำกว่าตราสารทุน (หุ้น) โดยได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย และมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้

ผู้ออกตราสารหนี้สามารถแบ่งออกเป็นตราสารหนี้ภาครัฐฯ (พันธบัตร) และตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้)

สำหรับพันธบัตรรัฐบาลสามารถพูดได้ว่าเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระ (Risk Free) ส่วนหุ้นกู้ซึ่งออกโดยเอกชนจะมีความเสี่ยงมากกว่า และสามารถพิจารณาได้จากอันดับเครดิต หรือ Credit Rating

เรตติ้งจะถูกจัดทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในไทยมี 2 แห่งคือ TRIS กับ Fitch ส่วนระดับนานาชาติได้แก่ Moddy’s และ S&P ซึ่งหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี

เรตติ้งที่บริษัทหรือหุ้นกู้ได้รับจะสะท้อนความเสี่ยงในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารนั้นๆ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ Investment Grade และ Speculative Grade หรือ High Yield Bond

ระดับ Investment Grade คือหุ้นกู้ที่ได้รับเรตติ้งระดับ AAA ลงมาจนถึง BBB- ส่วนกลุ่ม High Yield คือหุ้นกู้ที่ได้รับเรตติ้งระดับ BB+ ลงไปจนถึง D รวมถึงตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต (Unrated Bond)

เรตติ้งที่สูงแสดงถึงระดับความเสี่ยงที่ต่ำ ผู้ออกย่อมให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งต่ำกว่าจึงต้องจูงใจผู้ซื้อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า

นักลงทุนต้องติดตามเรตติ้งของหุ้นกู้ที่ตนเองลงทุนหรือสนใจเพราะอันดับเครดิตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด และส่งผลต่อระดับราคาของหุ้นกู้ที่นักลงทุนถืออยู่หรือสนใจจะเข้าซื้อในตลาดรอง

อ้างอิง : http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2019/06082019.aspx

หรือฟังเป็น Podcast :

ฟังผ่าน Soundcloud https://soundcloud.com/charoenjit-c/prosperous-ep140-credit-rating

ฟังผ่าน Spotify https://open.spotify.com/episode/3vDwM8KkcylIMxuYYdVXhE?si=zeKVgY0WSUK_al7l2YcfHg

กองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) ที่จะมาแทนหลังกองทุน LTF หมดการให้สิทธิประโยชน์

ช่วงนี้มีไอเดียที่จะเอาเนื้อหาที่เคยเขียนไว้ในเพจ Charoenjit มาลงใน Blog ด้วย ขอเริ่มต้นด้วยบทความนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ครับ

+++++++++++++++++++++++++++

กองทุน LTF จะสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2562 นี้ และกองทุนประเภทใหม่ที่จะมาทดแทนคือกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) กำลังอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง วันนี้มารู้จักกองทุนใหม่นี้กันครับ

สภาธุรกิจตลาดทุน (FETCO) ได้นำเสนอกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) เพื่อมาทดแทนกองทุน LTF ในฐานะกองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อยู่ในช่วงรออนุมัติจากกระทรวงการคลัง

LTF VS SEF

สิ่งที่เหมือน
ผู้ลงทุนใน LTF และ SEF ยังคงต้องถือครอง 7 ปีปฏิทินเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สิ่งที่แตกต่าง
1)นโยบายการลงทุนของ LTF คือลงทุนไม่ต่ำกว่า 65% ในหุ้นไทย ส่วนนโยบายการลงทุนของ SEF คือลงทุนไม่ต่ำกว่า 65% ในหุ้นที่อยู่ในดัชนีหุ้นยั่งยืน (SETTHSI) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (IFF)

2)ผู้ลงทุนสามารถซื้อ LTF ได้ไม่เกิน 15% ของรายได้และไม่เกิน 500,000 บาท ขณะที่สามารถซื้อ SEF ได้ไม่เกิน 30% ของรายได้และไม่เกิน 250,000 บาท

การเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนต่อรายได้และลดเพดานการลงทุนลงก็เพื่อลดช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้สูงกับผู้มีรายได้ต่ำ และให้รัฐเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูงมากขึ้น

คาดว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกองทุนจะทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นลดลงจากประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 2.95 หมื่นล้านบาทต่อปี

แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีกองทุนใดมาทดแทนเพราะจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น

+++++++++++++++++++++++++++

ขอบคุณข้อมูลจากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย

เอาลงไว้ใน Podcast ด้วย ฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน EP132 ครับ…

ฟังผ่าน Soundcloud หรือฟังผ่าน Spotify

Sell in May

1527769386485
ยอดซื้อขายของนักลงทุนใน SET เดือนพฤษภาคม 2561 เครดิต : รูปภาพจากกลุ่มไลน์ @newss

มีโอกาสมาส่งท้ายเดือนพฤษภาคมขอพูดถึงการลงทุนในหุ้น ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินวลีที่ว่า

Sell in May and go away…

ซึ่งหมายถึงกลยุทธ์ที่แนะนำให้เราขายหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม โดยกลยุทธ์นี้ก็เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลในตลาดต่างประเทศ ทีนี้ลองดูว่าปีนี้ เกิดขึ้นกับบ้านเราหรือไม่ เราโฟกัสกันที่นักลงทุนต่างชาติครับ

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าต่างชาติขายหนักจริงๆ รวมเดือนนี้ขายหุ้นไทยไปสุทธิกว่า 5หมื่นล้านบาท (จริงๆปีนี้ขายทุกเดือนแต่เดือนนี้ก็หนักที่สุด) และหากพิจารณาเป็นรายวันพบว่ามียอดซื้อสุทธิในรายวันเพียงแค่ 2 วัน

ส่วนดัชนีหุ้น SET บ้านเราเมื่อเจอแรงขายหนักๆก็เกินต้านทาน ปรับลดลงจากสิ้นเดือนเมษายนที่ 1,780.11 เหลือ 1,726.97 หรือร่วงไป 2.99%

เก็บไว้เตือนใจปีหน้า สงสัยต้อง Sell in May and go away บ้างแล้ว…

Downside Risk

bag

เค้าโครงจากเรื่องจริง…

ชายคนหนึ่งจะออกไปทำธุระแต่เช้า ก็เตรียมตัวออกจากบ้านตามปกติ

สวมเสื้อเชิ้ต กางเกงสแลคขายาวสีดำ

ในมือมีกระเป๋าถือสีดำใส่เอกสาร กระเป๋าสตางค์ใส่กระเป๋าหลังด้านขวา

เตรียมเศษเหรียญไว้ 10 บาทสำหรับขึ้นรถเมล์อยู่ในกระเป๋าหน้าด้านขวา

แล้วในกระเป๋าหน้าด้านก็มีลูกอมอีกสองเม็ด

ช่วงที่เขารอรถเมล์นั้นเป็นช่วงตี 5 เล็กน้อย ฟ้ายังไม่สว่าง คนก็ยังไม่มี

ทันใดนั้น!!! มีชายอีกคนหนึ่งขับมอเตอร์ไซด์มาจอดเทียบ

ส่งเสียงขู่พร้อมบอกให้ส่งของมีค่าให้ นี่มันโจรชัดๆ

พูดไม่ทันขาดคำ โจรก็ดึงกระเป๋าถือสีดำจากมือชายคนนั้น

พร้อมๆกับที่เขาหยิบเหรียญ 10 บาทพร้อมลูกอมส่งให้

….โจรไม่ได้สนใจกระเป๋าสตางค์ที่ใส่อยู่ในกระเป๋าหลังเลย

….อาจด้วยกระเป๋าถือสีดำของเขานั้นดูสวยและเป็นทางการ

….โจรเลยได้ไปแค่กระเป๋าและเอกสารในนั้น บวกเงินสิบบาทและลูกอม

++++++++++++++++++++++++

โจรลงทุนเสี่ยงสุดๆ กลับได้ไปแค่เงิน 10 บาทและลูกอม 2 เม็ด

มองเผินๆอาจรู้สึกว่า ก็ไม่ได้เสียอะไร แถมได้ไป 10 บาทด้วย

แต่จริงๆแล้วมีความเสี่ยงสูงมากคือถ้าถูกจับ

โอกาสที่โจรจะได้เงินจากการปล้นครั้งนี้ คือ Upside risk ไม่สูงมาก

เพราะคนมารอขึ้นรถไปธุระจะขนเงินสดมาสักเท่าไร

ในขณะที่ความเสี่ยงของการลงทุนปล้นครั้งนี้ หรือ Downside risk เยอะมาก

คือโดนจับ!!!

เปรียบเทียบแล้วไม่ค่อยคุ้มเท่าไร…

++++++++++++++++++++++++

เหมือนการเก็งกำไรในหุ้นบางกรณี

หุ้นเล็กๆ ไม่มีปัจจัยพื้นฐาน วิ่งฉวัดเฉวียนในตลาด

เข้าไปเก็งกำไรเร็ว ก็อาจจะได้เล็กน้อย Upside risk ไม่เท่าไร

แต่ถ้าพลาดขึ้นมา โอกาสขาดทุน พอร์ตเสียหายมีมาก Downside risk สูง

ตัวอย่างของโจรคนนี้น่าจะสะท้อนความเสี่ยงในการเก็งกำไรในหุ้นได้ครับ

ค่าขนม

boy-clipart-saving-money-18.jpg

สมัยตอนอยู่ ป.6 ผมได้ค่าขนมไปโรงเรียน 20 บาทครับ ผ่านมาแล้ว 17 ปี ตอนนี้ไปดูของหลานซึ่งอยู่ ป.6 เหมือนกัน คุณแม่ของเขาซึ่งเป็นพี่สาวผมให้ค่าขนมไปโรงเรียน 40 บาทครับ

แสดงว่าที่ผ่านมา 17 ปีนี่ค่าขนมเพิ่มขึ้นมา 20 บาทหรือคิดเป็น 200% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 4.16% CAGR

+++++++++++++++++

CAGR หรือ Compound Anuual Growth Rate คำนวณมาเพื่อแสดงอัตราการเติบโตของราคาสินทรัพย์ใดๆเพื่อให้ทราบเป็นอัตราแบบ ต่องวด (ในทีนี้คือต่อปี) ช่วยให้แปลงภาพจากผลตอบแทนก้อนๆใหญ่ๆตลอดระยะเวลาที่ลงทุน มาเป็นอัตราเท่าๆกันทุกปี มีประโยชน์สำหรับใช้เปรียบเทียบการลงทุน มีวิธีการคำนวณดังนี้

[(มูลค่าปลายงวด/มูลค่าต้นงวด)^(1/จำนวนปี)]-1

*การยกกำลัง 1 หารด้วยจำนวนปีก็คือสแควร์รูทที่…จำนวนปี นั่นเอง

จากตัวอย่างค่าขนม มูลค่าปลายงวดคือ 40 มูลค่าต้นงวดคือ 20 จำนวนปีคือ 17 ปี

40/20=2, 1/17=0.0588 จะได้ 2^0.0588=1.0416 เอามาลบ 1 ได้ 1.0416-1 = 0.0416 = 4.16% คืออัตราการเติบโตของค่าขนมเท่ากับ 4.16% ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา (อ้าว! มากกว่าเงินเฟ้อหรือเปล่าต้องลดลงเปล่าเนี้ย 555โหดกะเด็ก)

+++++++++++++++++

CAGR ช่วยให้การพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีการลงทุนต่อเนื่องหลายปีหลายงวด ช่วยให้เกิดความ smooth มากขึ้นแม้ผลการลงทุนระหว่างทางจะมีความผันผวนเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลงและมีพลิกขาดทุนในบางงวดก็ตาม

หลายคนลงทุน LTF ต้องถือกองทุนไป 7 ปี รู้สึกใจตุ๊มๆต่อมๆบางปีก็กำไรเป็นบวก บางปีก็ลงไปติดลบรู้สึกว่าลงทุนไปจะใช้ได้ไหมเนี่ย ผ่านมา 7 ปี จาก 50,000 ขึ้นมาเป็น 60,000 ก็รู้สึกว่าอะไร ได้แค่หมื่นเดียวเองตั้ง 7 ปี ปรากฏว่าไปคำนวณตามสูตรได้

[(60,000/50,000)^(1/7)]-1 = [1.2^0.1429]-1 = 2.64% ต่อปี ก็ทำให้เห็นภาพรวมของผลการลงทุนได้ อาจจะเอาไปเทียบกับกองทุนอื่น หรือเปรียบเทียบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เราได้รับ เป็นต้น

หรือจะเอาไปใช้เปรียบเทียบในการที่เราถืออสังหาฯแล้วขาย หรือวัดประสิทธิภาพในการลงทุนของพอร์ตหุ้นก็ได้ครับ

ตัดขาดทุน

business-3066442__480.jpg

ช่วงนี้ตลาดหุ้นบ้านเราดีครับ ส่วนมากเป็นการปรับขึ้นมากกว่าปรับลง แล้วหุ้นหลายตัวก็ขึ้นแรงมาก แต่ขณะเดียวกันในระดับโลกพวกสกุลเงินดิจิตอลกลับปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากจุดสูงสุด

สาเหตุไม่อาจทราบได้แต่ถ้าใครไปลงทุนเอาไว้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เช่น bitcoin ก็คงขาดทุนหนัก

การขาดทุนไม่เป็นที่พึงประสงค์ของนักลงทุน แต่เมื่อการขาดทุนมาถึงในจุดหนึ่งที่เรียกกันว่า จุดตัดขาดทุน (stoploss) คำแนะนำทางด้านการลงทุนส่วนใหญ่ที่มักจะแนะนำให้ปฏิบัติตาม คือให้เราขายแบบขาดทุนออกไปเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะมากกว่านี้

แต่การทำ stoploss ก็ยากอีก ยากตรงทำใจ ทำให้นักลงทุนส่วนมากปล่อยไว้และเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

วันนี้จึงอยากจะแชร์ให้ระมัดระวัง ไม่ว่าเราจะกำลังลงทุนในหุ้นไทยอยู่ หรือแม้กระทั่งเงินดิจิตอล หรืออื่นๆ หากราคาลดลงแรงๆผิดจากความคาดหมายหรือกลยุทธ์ของเรา เราจำเป็นต้องตัดขาดทุน เพราะหากเรายิ่งปล่อยให้ขาดทุนมากเท่าไร เรายิ่งต้องทำผลตอบแทนให้มากขึ้น เพื่อให้พอร์ตกลับมาที่เดิม

และนี่คือผลตอบแทนที่ต้องการเพื่อทำให้เงินต้นกลับไปที่เดิม

CapitalProtection1

รูปจาก : https://www.biznews.com

หากเราขาดทุน 10% เราต้องทำผลตอบแทน 11% เพื่อพอร์ตกลับไปเท่าเดิม ถ้าขาดทุนที่ 40% ต้องทำผลตอบแทนถึง 67% และหากปล่อยให้การลงทุนขาดทุนถึงระดับ 50% ต้องลงทุนให้ได้กำไร 100% เลยทีเดียว!!!

ฝากไว้เป็นแนวทางสำหรับการลงทุนครับ…

TGIF!!! วันศุกร์ กับ อัตราผลตอบแทน

concept-1868728__480.jpg

วันนี้ขอแชร์งานเขียนเก่าที่เคยเขียนตอนทำเพจ

เกี่ยวกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นในวันศุกร์ครับ

 

TGIF!!! วันศุกร์ กับ อัตราผลตอบแทน

สวัสดีวันศุกร์วันส่งท้ายสัปดาห์ของตลาดหุ้นครับ ได้ยินกันบ่อยๆเวลาตลาดหุ้นเปิดล่วงเลยมาจนถึงวันศุกร์โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ ที่ว่า “วันนี้ตลาดน่าจะลง เพราะคนขายหนีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์” “ขายก่อนดีกว่าระวังวันหยุดเหตุการณ์ไม่แน่นอน” “วันศุกร์ไม่มีใครซื้อหุ้นหรอก” ฯลฯ เกิดสงสัยขึ้นมาว่าจริงๆแล้วมันเป็นอย่างนั้นรึเปล่าก็เลยไปหาข้อมูลมาแล้วก็พบข้อมูลของตลาดบ้านเราซะด้วย วันนี้เลยเอามาแบ่งปันครับ

งานวิจัยในปี 2559 โดย ศ.ดร.อัญญา ขันธวิทย์ และ ผศ.อบรม เชาวน์เลิศ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “การทวนสอบเหตุการณ์วันของสัปดาห์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ได้ทำการศึกษาเหตุการณ์ที่เรียกว่า day-of-the-week (DoW) effect ว่าวันแต่ละวันในสัปดาห์ (จันทร์-ศุกร์) ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนในวันใดอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

Click to access Dec-2016-Obrom.pdf

ผลปรากฏว่าอัตราผลตอบแทนมีนัยสำคัญจริงๆในวันศุกร์ แต่ว่าเป็นผลตอบแทนด้านบวก!!! แสดงว่าที่พูดกันว่าตลาดวันศุกร์จะหงอยจะลงนั้นอาจจะไม่ได้เป็นจริง การศึกษานี้ใช้ข้อมูลช่วงปี 2545-2558 ก็เป็นปัจจุบันและยาวนานพอสมควร ในขณะเดียวกันการศึกษายังพบว่าผลตอบแทนของตลาดมีนัยสำคัญในวันจันทร์ด้วย แต่ผลตอบแทนเป็นลบ

งานวิจัยยังทำการศึกษาลึกลงไปถึงคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้ข้อสรุปที่ว่า ที่ผลตอบแทนของตลาดเป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญในวันศุกร์เกิดจากคำสั่งซื้อจำนวนมากที่มาจากนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ ช่วยผลักดันให้ราคาสูงขึ้นและมีผลตอบแทนในวันศุกร์เป็นบวก ส่วนคนที่ขายคือนักลงทุนรายย่อยในประเทศและบริษัทหลักทรัพย์ (Prop. Trade) แต่แรงขายยังสู้แรงซื้อไม่ได้สุดท้ายผลตอบแทนเลยออกมาเป็นบวก ส่วนวันจันทร์ที่เป็นลบก็เพราะเจอแรงขายของทั้งนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศ นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ (รุมขาย)

สรุปสิ่งที่น่าสนใจในงานวิจัยนี้ครับ

***อัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นเป็นบวกในวันศุกร์ เกิดจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ

***เหตุการณ์ DoW ที่เกิดในวันศุกร์เกิดเฉพาะกับหุ้นใน SET เท่านั้น ไม่เกิดกับหุ้นใน MAI (ก็สอดคล้องกับแรงซื้อที่ว่าเป็นของสถาบันและต่างชาตินะ เพราะว่าสัดส่วนของวอลุ่มการซื้อขายในช่วงที่ศึกษา ของ MAI เป็นรายย่อยเล่นกันเกือบ 96% คือ MAI นี่รายย่อยเล่นล้วนๆ)

***เคยมีสมมติฐานว่าที่มีแรงซื้อหุ้นในวันศุกร์มากๆเนี่ยเพราะว่ามันได้ตัดเงินช้ากว่าปกติรึเปล่า ผลการศึกษาก็พบว่าไม่ใช่ เพราะไม่งั้นต้องเกิดผลตอบแทนเป็นบวกด้วยกับ MAI แต่ในกรณีนี้เกิดขึ้นกับหุ้นใน SET เท่านั้น

***ในเชิงจิตวิทยาก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าวันศุกร์นักลงทุนมีความสุขแฮปปี้ ส่วนวันจันทร์รู้สึกเซ็งๆก็เลยส่งผลต่อผลตอบแทนของตลาดหุ้นรึเปล่า ก็อธิบายได้เหมือนกันคือถ้าเป็นก็ต้องเป็นทั้งตลาด แต่ในกรณีนี้หุ้น MAI ไม่เกิด

***เนื่องจากตลาดบ้านเราเดี๋ยวนี้มี SBL (ยืมหุ้นมาขาย Short) อีกแนวทางหนึ่งจึงมองว่าคนที่เล่น SBL อาจจะไม่อยากถือสถานะข้ามสัปดาห์รึเปล่า ทำให้ต้องซื้อหุ้น cover สถานะ ทำให้วันศุกร์มีผลตอบแทนเป็นบวก ผลปรากฏว่าพอลองคำนวณเฉพาะหุ้นที่เล่น SBL ได้ ผลตอบแทนวันศุกร์ก็ยังเป็นบวกอยู่ดี

***อีกประเด็นที่มีการศึกษาไว้คือนักลงทุนสถาบันและต่างชาติเป็นนักลงทุนรายใหญ่ มักจะได้รับข้อมูลก่อนนักลงทุนอื่นๆ และเพราะว่าคำแนะนำต่างๆมักจะออกในวันศุกร์ (แต่พวกนี้เขาได้รับคำแนะนำไปก่อนแล้ว เช่น พฤหัสบดี) ดังนั้นนักลงทุนเหล่านี้ก็รู้ก่อนแล้วก็ซื้อก่อน ส่งผลให้มีแรงซื้อและผลตอบแทนเป็นบวกในวันศุกร์

***อัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นเป็นลบในวันจันทร์ เกิดจากแรงขายของนักลงทุนสถาบัน ต่างชาติและรายย่อย

***ในช่วงเวลาที่ศึกษา วอลุ่มตลาดวันจันทร์มักจะน้อย ดังนั้นพอเจอแรงขายของนักลงทุนเหล่านี้ ถึงแม้ขายไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับวันอื่น ผลตอบแทนก็เป็นลบได้

***สาเหตุที่นักลงทุนสถาบันหรือต่างชาติมีแรงขายในวันจันทร์ มีคนศึกษาไว้น่าสนใจสองประเด็น 1)นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่กล้าทำสถานะซื้อในวันจันทร์เพราะกลัวโดนคนที่รู้ข้อมูลต่างๆ (informed traders) ในวันเสาร์-อาทิตย์มาขายใส่ 2)อีกกรณีหนึ่งคือวันจันทร์ยังวางแผนกลยุทธ์กันอยู่ (Strategic planning day)

สรุป : งานวิจัยที่เอามาแบ่งปันวันนี้บ่งบอกว่าตลาดวันศุกร์ที่เรามองว่าหงอยเหงาหรือว่ามีความเสี่ยงที่จะเจอแรงขาย จริงๆแล้วกลับมีผลตอบแทนรายวันเป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลนี้น่าจะช่วยในการพิจารณาสำหรับ Day traders หรือนักเก็งกำไรหุ้นที่เล่นสั้นในวันได้ครับ

ซื้อของแพง

homepro.jpg

สมมติว่าเราไปหาซื้อสำลี มี 3-4 ยี่ห้อวางๆอยู่ ไม่รู้เลยเลือกไม่เป็นซื้ออันไหนน่าจะมีลุ้นคุณภาพดีสุด…

ซื้ออันที่แพงสุด

สมมติว่าเราไปหาซื้อลูกบิดประตู สินค้าวางอยู่เพียบแล้วหน้าตาก็เหมือนๆกัน ดูวัสดุอะไรภายนอกก็ไม่รู้เรื่อง จะซื้ออันไหนน่าจะใช้ดีใช้ทนสุด…

อันที่แพงก็น่าจะดูดีที่สุด

เอาของมีราคาขึ้นมาหน่อย นาฬิกาข้อมือ มีราคาตั้งแต่หลักพันถึงหลักล้าน เราไม่ได้ศึกษาไม่มีความรู้…

อันที่แพงก็น่าจะดูดีที่สุด มันน่าจะมีอะไร

และใกล้ตัวสุดมือถือ สมมติไม่เคยรู้เรื่องมือถือมาก่อน สเปคอะไรก็ไม่รู้เลย เห็นไอโฟนมาเครื่องละหลายหมื่น…

ก็ต้องคิดว่าที่มันแพงเพราะมันต้องมีอะไรดีๆ

++++++++++++++++++++++++

ขอวกเข้าเรื่องหุ้นสักหน่อยเพราะวันนี้ดัชนี SET ทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาลอีกครั้งเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยสามารถทะลุหลัก 1,800 ขึ้นไปสูงสุดที่ 1,803.93 จุด ก่อนปิดตลาดไปที่ 1,795.45 จุด

เปิดตลาดมา 3 วันดัชนีบวกกระจาย จากปิดสิ้นปี 1,753.71 มาตรงนี้เท่ากับบวกมา 42 จุด 2.38%

หุ้นที่ขึ้นแรงๆเด่นๆ เช่น AOT +5.88% นี่ปีที่แล้วนี่ขึ้นมา 71.07% แล้วนะครับ
GULF +5.77% ปีก่อนบวกมาแล้ว 44.44%
AMATA +5.77% เหมือนกัน ปีก่อน +126%
หรือ KBANK +3.88% ปีก่อนก็วิ่งมาแล้วกว่า 30%

ตอนนี้ตลาดหุ้นปัจจัยหนุนเพียบหาปัจจัยลบไม่เจอ ทุกคนอยากซื้อหุ้นแต่ไม่รู้ว่าจะซื้อตัวไหนดี ดังนั้นหุ้นที่แพงแล้ว ก็ยังมีโอกาสแพงอีกได้ เพราะเมื่อมองในมุมเฉพาะด้านราคา หุ้นที่ราคาแพง (คือขึ้นมาแล้ว) ที่มันแพง ก็เพราะว่ามันน่าจะต้องมีอะไรดีๆ (ไม่นับรวมถึงเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยทางเทคนิคหรือเรื่องของ demand/supply อีกนะ) คือไม่รู้ล่ะข้อมูลอาจจะไม่รู้แน่ชัดแต่ซัดไว้ก่อน (แต่จริงๆพวกกองทุน/ต่างชาติก็คงมีข้อมูลอยู่แล้วล่ะครับ)

ดังนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตที่ว่าช่วงนี้เราเห็นหุ้นแพง ก็แพงขึ้นไปอีก ส่วนหุ้นไหนที่นิ่งๆไม่ขยับยังไงก็ยังไม่ขยับอย่างนั้น…

…น่าจะช่วยให้เห็นภาพตลาดหุ้นตอนนี้มากขึ้นครับ