9 Future Mindset จากหนังสือ FUTURE MINDSET : เมื่อวิธีคิดที่คุณมีใช้กับงานในวันพรุ่งนี้ไม่ได้

9 Future Mindset จากหนังสือ FUTURE MINDSET : เมื่อวิธีคิดที่คุณมีใช้กับงานในวันพรุ่งนี้ไม่ได้

หนังสือโดยศาสตราจารย์ ดร.นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของเพจและ podcast Nopadol’s Story ให้แนวคิดการทำงานในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ด้วยเนื้อหาสั้นๆกระชับ 35 บท 35 Mindset ให้เราได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดสำหรับอนาคต

และนี่คือ Future Mindset ที่ผมได้จากหนังสือขอนำมาแบ่งปันครับ

1.เราสามารถทำงานให้สำเร็จรวดเร็วขึ้นได้ด้วยการ Benchmarking เพียงเราเทียบเคียงกับคนอื่นที่ทำได้ดีที่สุดแล้วก็ทำตาม Best Practice นั้น

ถ้าสังเกตหาเองไม่ได้ ก็หา Partner ที่เราสามารถเอาแนวทางที่ดีของเราไปแลกกับเขา เกิดเป็นทางออกที่ Win-Win ทั้งสองฝ่าย

แม้กระทั่งคู่แข่งก็ช่วยกันได้

2.ในขณะที่เราไม่สามารถทำได้ดีทุกเรื่อง ให้เราโฟกัสทำในสิ่งสำคัญและทำได้ดี

ถ้าเคยได้ยินกฎ Pareto 20/80 – 20% ของลูกค้าสร้างรายได้ให้เรา 80% หรือ ยอดขายกว่า 80% มาจากผลิตภัณฑ์เพียง 20% หรือ ปัญหาสำคัญ 2 อย่างจาก 10 อย่างจะสร้างความเสียหายได้ถึง 80%

ทรัพยากรมีอย่างจำกัด โฟกัสในงานหรือการพัฒนาจุดที่มี Impact กับเราจริงๆมากที่สุด

3.งานที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จมากๆจะประกอบด้วยปัจจัย 5 อย่าง

1)มีประโยชน์กับคนอื่น
2)หาคนทำได้ยาก
3)สามารถควบคุมได้ด้วยตัวของเราเอง
4)ขยาย (Scale) ได้
5)ไม่ยึดกับเวลาของเรา

ลองไปทบทวนดูสิ่งที่เรากำลังทำหรือคิดจะทำนะครับ

4.คนประสบความสำเร็จมีองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่ค่อยพูดคำว่า “จะ” หรือถ้าพูดแล้วไม่นานคำว่า “จะ” ก็หายไป เพราะว่าได้เริ่มทำไปแล้ว

ถ้าเรามีไอเดียอะไรที่ดี ให้เราเอาไปทำ เริ่มทำแล้วทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มเลิก แม้ยากก็ทำ ย่อมมีโอกาสสำเร็จ

ลดคำว่า “จะ” แล้วลงมือทำเลย

5.สิบวิธีเพิ่ม Productivity ถ้าอยากทำอะไรสำเร็จ

1)ผัดวันประกันพรุ่งสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการเกิดผล เช่น อยากจะเช็ค Facebook ก็บอกตัวเอง เดี๋ยวค่อยมาเล่น
2)เลิกใช้มือถือหรือ Internet เอาไปไว้ไกลๆหรือปิดเน็ต
3)จัดลำดับความสำคัญ
4)ไม่ต้องทำงานให้เพอร์เฟกต์ ทำ 90-95% แล้วค่อยมาปรับทีหลัง
5)หาและทำงานในช่วง Flow
6)เลิกประชุมที่ไม่มี Action จะได้ไม่เสียเวลา
7)พัฒนาความสามารถวันละ 1%
8)ตั้งเป้าหมายระยะยาว จะได้มีเข็มทิศ ไม่หลง ไม่ถูก Distract
9)ทำในสิ่งที่รัก ถนัดและเป็นประโยชน์
10)อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรักให้นานพอ

ลองทำดู ไม่ Work ก็เลิก ไม่เสียหายครับ

6.ความยุ่ง คือความผิดปกติ

คนเรายุ่งเป็นครั้งคราวได้ ไม่เป็นไร แต่ถ้ายุ่งตลอดเวลานี่ผิดปกติแล้ว

ลองคิดดูเวลาไปเที่ยวพักผ่อนไม่เห็นมีใครบอกว่าไปเที่ยวยุ่ง พักผ่อนยุ่ง มีแต่บอกว่างานยุ่ง

แสดงว่ายุ่งคือการทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยชอบ และมีเวลาว่างในการทำสิ่งที่ชอบน้อยลง แก้ได้โดย

ต้องหางานที่ชอบ หรือ ต้องบริหารเวลา

7.สถานการณ์ไหนเราควรเริ่มก่อนและอย่างไหนที่เราไม่ควร

ถ้าเราต้องไปแข่งบางอย่างกับเจ้าเก่า หรือบางอย่างที่มีคู่แข่งน้อย หรือต้องเจอกับคนที่เก่ง เราต้องเริ่มก่อน (ยึดความได้เปรียบ)

แต่ถ้าเราต้องไปแข่งบางอย่างในฐานะเจ้าเก่า หรือบางอย่างที่มีคู่แข่งเยอะ หรือได้เจอกับคู่แข่งที่อ่อนกว่า ให้เราขอไปอยู่หลังๆ ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่มีข้อมูลน้อย อยู่หลังๆจะได้เรียนรู้

8.รางวัลจูงใจคนได้ดีกว่าเงิน

รางวัลที่ไม่ใช่เงินให้ความรู้สึกเชื่อมโยงได้ดีกว่า เพราะการให้เป็นเงินให้ความรู้สึกเหมือนซื้อขายกันหรือจ้างให้ทำ การให้รางวัลเป็นเหมือนกันตอบแทนน้ำใจกันมากกว่า

การวิจัยพบว่าเมื่อให้เป็นเงินแล้วพอไม่ได้อีกทำให้แรงจูงใจลดลง

ทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรืออะไร ถ้าทำด้วยความรักมักทำได้ดีเสมอ ดังนั้นถ้าให้ของแล้วได้ความสัมพันธ์ด้วย ก็จูงใจได้ดีกว่า

9.แนวคิดการลงทุนแบบการปลูกต้นไม้ยืนต้น เป็นแนวคิดการลงทุนที่เสมือนปลูกต้นไม้ ประกอบด้วย 4 หลักการ

1)เลิกคิดจะรวยเร็ว – หวังเก็บเกี่ยวดอกผลไปยาวนาน
2)ลงทุนในบริษัทที่ตัวเองชอบหรือเชื่อมั่นในสินค้า/บริการ – จะได้ “อิน” และเชื่อมั่นการลงทุนนั้น
3)ลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโต/มั่นคง – หาข้อมูลและไม่เน้นเสี่ยง
4)ซื้อแล้วไม่คิดจะขาย – เน้นลงทุนยาวๆ หรือจะขายก็ต่อเมื่อพื้นฐานเปลี่ยน/เห็นโอกาสใหม่ๆหรือจำเป็นใช้เงินเท่านั้น และถ้าจะขายก็ขายแบบไม่สนต้นทุนด้วย

(ข้อ 9 นี้มีสรุปให้ฟังแบบ podcast ที่ https://www.facebook.com/762978170751157/posts/1243693689346267/ ครับ)

เป็นวิธีคิดที่น่าไปลองใช้ในสถานการณ์ต่างๆเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน

และนอกจาก 9 วิธีคิดที่ผมเอามาแบ่งปันแล้ว หนังสือ FUTURE MINDSET ยังแบ่งปันวิธีคิดที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ลองไปอ่านกันดูครับ

Advertisement

Review หนังสือ Managing Oneself : ปัญญางาน จัดการตน

Managing Oneself : ปัญญางาน จัดการตน

ผู้เขียน : Peter F. Drucker

ผู้แปล : คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

หนังสือโดยปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ ว่าด้วยการจัดการตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของการรู้จักตัวเอง การสร้างสรรค์ผลงาน เนื้อหากระชับ ตรงประเด็นตลอดความหนา 240 หน้า ใช้เวลาอ่านไม่นานนัก และนี่คือสิ่งที่ผมได้รับจากหนังสือเล่มนี้ สรุปออกมาเป็น 3 ส่วนครับ

Part l

เราจำเป็นต้องเรียนรู้จัดการตนเอง และรู้ว่าเราควรจะเปลี่ยนงานของเราอย่างไรและเมื่อใด

คนเราสร้างผลงานจากจุดแข็งเท่านั้น ไม่ใช่จากจุดอ่อน และไม่ใช่จากงานที่เราไร้ความสามารถ

การพัฒนาจาก “ไร้ความสามารถ” ไปยัง “กลางๆ” ใช้พลังงานมากกว่าจาก “เยี่ยม” ไปเป็น “ยอดเยี่ยม”

คำแนะนำคือ
1)ให้เราทุ่มพลังไปที่จุดแข็ง
2)ทุ่มเทพัฒนาจุดแข็ง
3)ลดอุปนิสัยความอหังการทางปัญญา

ตัวอย่างของความอหังการทางปัญญา เช่น คนฉลาดที่วางแผนได้ดีอาจจะต้องพบกับความล้มเหลวเพราะว่าไม่ใส่ใจที่จะเดินตามแผน ดังนั้นต้องลดอุปนิสัยความไม่ใส่ใจลงเพื่อให้ประสิทธิผลของสิ่งที่ทำดีขึ้น

ในขณะเดียวกันก็ใช้พลังงานให้น้อยที่สุดในการพัฒนางานในพื้นที่ที่เราไม่ถนัด

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรคือสิ่งที่ถนัดหรือไม่ถนัด

เครื่องมือ Feedback Analysis ช่วยเราได้ คือเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญหรือทำงานใหญ่ ให้เขียนสิ่งที่คาดหวังไว้ว่าจะเกิดขึ้น (เช่นในอีก 9-12 เดือนข้างหน้า) แล้วจึงเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่คาด จะได้รู้ว่าทำได้ดีหรือตัดสินใจถูกหรือไม่

ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักตนเองด้วยว่าเราเรียนรู้ด้วยวิธีไหน

ฟัง อ่าน เขียน พูด หรือทำ

ทั้งนี้การไม่นำความรู้ไปปฏิบัติคือหนึ่งในปัจจัยของการไร้ผลงาน

Part ll

สิ่งที่ต้องสำรวจตัวเองอีกอย่างหนึ่งคือ เราทำงานอย่างไร?

เราทำงานกับคนได้ดี หรือจะดีกว่าถ้าทำคนเดียว? และถ้าทำงานกับคนได้ดี ดีในความสัมพันธ์แบบไหน

เราสร้างผลงานได้ดีในฐานะคนตัดสินใจ หรือที่ปรึกษา?

ข้อนี้เป็นที่มาว่าทำไมในองค์กรคนที่เป็นเบอร์2จึงทำได้ไม่ดีเมื่อต้องขึ้นเป็นเบอร์1 บางคนทำได้ดีในฐานะที่ปรึกษาแต่ไม่อาจแบกรับความรับปิดชอบได้เมื่อต้องตัดสินใจจริงๆ

เราทำงานได้ดีในสภาวะแรงกดดัน หรือต้องการทำงานในสภาพที่แน่นอนและพยากรณ์ได้?

อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่จงทำงานหนัก เพื่อพัฒนาวิธีการที่จะสร้างสรรค์ผลงาน

เราจะรู้ว่าที่ทางของเราอยู่ที่ไหน อาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาปัจจัยต่างๆต่อไปนี้

อะไรคือจุดแข็งของเรา? เราทำงานด้วยวิธีการอย่างไร? เราให้ค่ากับสิ่งใด? จะช่วยให้คำตอบว่าที่ทางของเราอยู่ที่ไหนหรือตอบได้ว่าที่ไหนไม่ใช่ที่ทางของเรา

คำตอบของคำถามเหล่านี้ทำให้เราพูดได้เต็มปากต่อโอกาสที่เข้ามา ต่อข้อเสนอที่ได้รับมอบหมายว่า…

ตกลงจะทำหรือไม่ทำ

ความสำเร็จในการงานนั้นไม่ได้เกิดจากการวางแผน แต่เกิดขึ้นเมื่อคนเตรียมพร้อมเพื่อรับโอกาสใหม่ๆเพราะพวกเขารู้จุดแข็ง รู้วิธีการทำงาน และรู้คุณค่า

Part lll

ส่งท้ายด้วยเรื่องการทำงานกับผู้อื่น

Contribution คือสิ่งที่เราจะมอบให้กับงานงานหนึ่ง ให้พิจารณา 3 อย่าง

1)ณ สถานการณ์ตอนนี้ งานนี้ต้องการสิ่งใด
2)เราต้องทุ่มเทที่สุดวิธีไหนให้งานลุล่วง
3)อะไรคือเป้าหมายที่ต้องบรรลุเพื่อสร้างความแตกต่าง

ในขณะเดียวกันก็ทำความเข้าใจว่าเจ้านายเป็นอย่างไร เพื่อนร่วมงานเป็นอย่างไร มีวิธีการทำงานแบบไหน และดึงจุดแข็งออกมาให้ได้

นอกจากนี้ยังต้องสื่อสารว่าตัวเองทำอะไรอยู่ เก่งอะไร ทำงานด้วยวิธีไหน ให้ค่ากับอะไร

ก็จะช่วยให้งานสำเร็จและสัมฤทธิ์ผลได้

เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ในการทำงานและพัฒนาตนเองครับ

หนังสือที่อ่านจบในไตรมาส1/20 ที่ผ่านมา

ปี 2020 นี้ตั้ง Personal OKRs เกี่ยวกับเรื่องการอ่านหนังสือว่าจะอ่านจบทั้งหมด 20 เล่ม ดังนั้นเมื่อย่อยลงมาเป็น OKRs รายไตรมาสก็จะต้องอ่านจบ 5 เล่ม

สุดท้ายอ่านจบครบ 5 เล่มในวันสุดท้ายของไตรมาสพอดี ขออนุญาตเอามาแชร์เผื่อเป็นประโยชน์ครับ

เล่มแรกเคยรีวิวไปแล้วได้แก่ Radical Focus อยากสำเร็จต้องโฟกัสด้วยแนวคิด OKR ผู้เขียน Christina Wodtke แปลโดย ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ และ ดร.บรรจงจิต ร่มโพธิ์

หนังสือมี 199 หน้า เนื้อหาเกี่ยวกับการนำ OKR ไปใช้พัฒนาการดำเนินงานของกิจการ

Radical Focus อยากสำเร็จต้องโฟกัสด้วยแนวคิด OKR

เล่มที่สอง The Hard Thing About Hard Things โดย Ben Horowitz แปลโดยคุณวิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา หนังสือมี 351 หน้า

Ben Horowitz เล่าถึงเรื่องราวของตัวเองซึ่งเคยเป็น CEO และผู้ก่อตั้งของบริษัท Start up สายเทคโนโลยี มีประสบการณ์ในการฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจ และเคยประสบความสำเร็จในการขายกิจการได้ด้วยราคาสูง ปัจจุบันเป็นนักลงทุนร่วมทุน

เนื้อหาในหนังสือยังให้ทักษะกับคนที่จะดำรงตำแหน่ง CEO ที่ต้องดูแลธุรกิจรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น การบริหารในช่วงเวลาที่ยากลำบาก การรับและปลดพนักงาน การสื่อสารในองค์กร การสร้างวัฒนธรรม การแก้ปัญหาต่างๆ จนถึงการขายกิจการ

เล่มนี้ได้ความรู้แล้วก็มันส์ดีด้วย และน่าจะเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน

The Hard Thing About Hard Things

เล่มที่สามมาอ่านหนังสือของ ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์อีกเล่มหนึ่งคือ The Happiness ความสุขปัจจุบันสุทธิ ความหนา 213 หน้า

เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความของอาจารย์นภดลที่เขียนผ่าน Blog Noppadol’s Story และสะสมมาจากแหล่งอื่นๆ นำเสนอเป็นตอนสั้นๆ อ่านง่ายและได้แง่คิดที่ดีในการดำเนินชีวิต สามารถเอาไปปรับใช้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

มีตอนที่ชอบหลายตอนขอยกตัวอย่างเช่น เราควรอดทนในสิ่งที่ควรอดทน, “ได้..ถ้า”กับ “ไม่ได้..เพราะ”, มาผัดวันประกันพรุ่งกันเถอะ, วิธีจัดการกับ Midlife Crisis, เวลามันย้อนกลับไปไม่ได้ และความคิดสร้างสรรค์มันมาแล้วก็ไป เป็นต้น

The Happiness ความสุขปัจจุบันสุทธิ

เล่มที่สี่ยังคงหาเรื่องสั้นๆมาอ่าน คือ One Plus One Equals Three หนึ่ง บวก หนึ่ง เท่ากับ สาม หนังสือโดย Dave Trott ผู้แปลคุณพราว อมาตยกุล หนา 270 หน้า

ผู้เขียนเป็นคนทำงานในวงการโฆษณา ส่วนเนื้อหาในหนังสือให้แง่มุมในแง่ความคิดสร้างสรรค์ การคิดต่าง การมีมุมมองใหม่ ผ่านเรื่องเล่าที่มาจากหลายแหล่ง คม แต่ละเรื่องอ่านไปก็น่าติดตาม อ่านจบเรื่องแล้วก็ได้แนวคิดใหม่ๆ

One Plus One Equals Three หนึ่ง บวก หนึ่ง เท่ากับ สาม

เล่มสุดท้ายแม้อ่านจบในไตรมาสแต่จริงๆเป็นหนังสือที่อ่านมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 เท่ากับใช้เวลาอ่านถึง 8 เดือน! (แม้ระหว่างทางจะแวะไปอ่านเล่มอื่นบ้าง)

คือหนังสือ Principles โดย Ray Dalio หนา 591 หน้า แปลโดยคุณจอมทรัพย์ สิทธิพิทยา

ที่อ่านนานเพราะว่าอ่านไปจดบันทึกไปเพราะคิดว่าอ่านหนังสือที่มีชื่อเสียงและหนาขนาดนี้น่าจะจดไว้หน่อย ก็เลยใช้เวลาอย่างยาวนาน แต่ก็คุ้มค่าเพราะว่าได้รู้เรื่องราวประสบการณ์ของ Ray Dalio ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง ส่วนหลักการในหนังสือก็ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบ สามารถเอาไปใช้ได้ทั้งในการดำเนินชีวิต และการทำงาน ละเอียดมากๆ

Principles

จบไปทั้งหมด 5 เล่มเป็นหนังสือที่ดีและมีประโยชน์มากๆ ถ้ามีโอกาสอาจจะเอามาเขียนถึงแต่ละเล่มแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่งครับ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านครับ

รีวิวหนังสือ : อยากสำเร็จต้องโฟกัสด้วยแนวคิด OKR : Radical Focus

รีวิวหนังสือ : อยากสำเร็จต้องโฟกัสด้วยแนวคิด OKR : Radical Focus

  • เป็นเล่มที่ซื้อมาส่งท้ายปี 2019 ด้วยความสนใจที่จะนำแนวคิด OKRs มาใช้ส่วนตัว
  • หนังสือประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเหมือนนิยาย ส่วนหลังเป็นสรุปวิธีใช้ OKRs
  • ส่วนแรกที่เป็นนิยายพูดถึงบริษัท Startup แห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับชา แต่ในช่วงแรกการดำเนินงานยังไม่เห็นทิศทาง จนผู้ลงทุนได้แนะนำแนวคิด OKRs ให้กับสองผู้ก่อตั้งได้นำไปลองใช้จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัท
  • ส่วนแรกที่เป็นนิยายทำให้อ่านได้คล่องและเร็ว
  • ส่วนหลังที่เป็นสรุปวิธีใช้ OKRs ก็เริ่มตั้งแต่ที่มาที่ไปของแนวคิด OKRs จะไปถึงข้อแนะนำในการใช้แนวคิดนี้ในองค์กร
  • OKRs ย่อมาจาก Objective and Key Results
  • ในการตั้งเป้าหมายใดๆให้มี O หรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและทำให้เราอยากลุกออกไปทำ
  • ส่วน KR หรือผลลัพธ์หลัก จะเป็นตัวชี้วัดที่เมื่อทำสำเร็จแล้วจะบรรลุวัตถุประสงค์
  • เนื่องจากในแต่ละวันเรามีอะไรต้องทำมากมาย การกำหนด OKRs ช่วยให้เรารู้ลำดับความสำคัญว่าเราต้องทำสิ่งไหนก่อนเพื่อจะบรรลุเป้าหมาย
  • อีกหนึ่งหลักสำคัญแนวคิด OKRs คือการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ (ทุกสัปดาห์) ว่าสิ่งที่เราทำนั้นทำให้เราใกล้เป้าหมายมากขึ้นหรือยัง แล้วค่อยๆปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่องจนบรรลุเป้าหมาย
  • สามารถใช้ได้ทั้งกับองค์กรและส่วนตัว ทั้งนี้ในส่วนของผมศึกษาเพื่อเอามาใช้ตั้ง Personal OKRs
  • หนังสือมี 199 หน้า อ่านจบอย่างรวดเร็วประเดิมต้นปี 🙂
  • สนใจหนังสือสามารถสั่งซื้อที่ได้ m.me/bookoins โดยใส่โค้ด CHAR จะได้ส่วนลด 10% ครับ