9 แนวทางที่ทำให้การเดย์เทรดเรียบง่ายขึ้น : คู่มือนักลงทุน

9 แนวทางที่ทำให้การเดย์เทรดเรียบง่ายขึ้น

จาก Podcast EP279 มาอ่านแบบบทความกันครับ

ตลาดหุ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีความคึกคักมากขึ้น สามารถเข้ามาซื้อขายทำกำไรได้ดี ในขณะที่หลายคนได้หยุดหรือทำงานที่บ้านก็มีโอกาสได้ดูและอยากจะลองเข้ามาเดย์เทรด (Day Trade) หรือซื้อขายหุ้นระหว่างวันดูบ้าง…

การเดย์เทรดแม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คำแนะนำ 9 ข้อนี้น่าจะช่วยให้การเดย์เทรดของเราเรียบง่ายขึ้นครับ

1)จัดโต๊ะเทรดให้เรียบร้อย

เหมือนกับการทำงานนั่งโต๊ะทั่วไป ในขณะที่เราต้องจดจ่อกับการเทรด และอาจต้องนั่งเป็นระยะเวลานาน การมีสภาพแวดล้อมที่ดีก็ย่อมช่วยให้การซื้อขายของเราได้ผลที่ดีขึ้น

การจัดโต๊ะให้เรียบร้อยยังช่วยป้องกันสิ่งไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นได้เช่นหาของไม่เจอ กาแฟหก ฯลฯ ไม่แน่โอกาสเทรดที่ดีสุดอาจเกิดขึ้นขณะที่เรากำลังเช็ดน้ำที่หกบนคีย์บอร์ด

2)ทำความสะอาดอุปกรณ์

ในที่นี้ไม่ใช่การเช็ดทำความสะอาด แม้ว่าในช่วงโควิด19นี้เราต่างก็ระมัดระวังและทำความสะอาดทั้งคีย์บอร์ด โทรศัพท์ Taplet/iPad ของเรามากขึ้นกว่าปกติก็ตาม

แต่หมายถึงการทำให้เครื่องมือเทรดหุ้นของเราสะอาด ปราศจากสิ่งรบกวน ถ้าใช้คอมพิวเตอร์การมีหน้าจอแยกกันระหว่างจอเทรดที่ใช้ส่งคำสั่งกับจอกราฟก็น่าจะให้ผลดีที่สุด

ถ้าไม่ได้จัดเต็มขนาดนั้นหรือซื้อขายผ่านอุปกรณ์มือถือ อย่างน้อยก็ควรจะไม่ให้มี Notification ต่างๆเข้ามารบกวนการเทรดของเรา

3)ลด Indicator ลงหนึ่งตัว

ในการซื้อขายแบบเดย์เทรด ส่วนมากเรามักจะใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้ามาช่วยในการตัดสินใจ ดูกราฟและมี Indicator มากมาย เช่น เส้นค่าเฉลี่ย EMA MACD RSI Stocastic ฯลฯ

การลด Indicator ลงสักหนึ่งตัวจะช่วยให้การเดย์เทรดของเราเรียบง่ายขึ้น โดยจะช่วยให้เรารู้ว่า Indicator นั้น มีผลต่อการตัดสินใจของเราหรือไม่ ถ้ามันหายไปแล้วเรายังตัดสินใจได้ดีก็เท่ากับว่ามันไม่จำเป็น ขณะเดียวกันก็จะได้รู้ว่าตัวไหนมีประโยชน์…สามารถลองลดไปทีละตัวจนเราเจอจุดที่เหมาะสมของเรา

4)เอาข่าว (News Feed) ออกไปในขณะเทรด

หลักการสำคัญของการวิเคราะห์ทางเทคนิคคือข้อมูลข่าวสารต่างๆสะท้อนลงไปในราคาหุ้นแล้ว และในเมื่อเราใช้การดูกราฟ ดู Indicator ในการตัดสินใจ การฟังข่าวที่เข้ามาอาจไม่จำเป็น และอาจส่งผลต่อการตัดสินใจของเราได้

5)All in, All out เล่นไม้เดียว

ในการลงทุนระยะยาวนักลงทุนอาจจะเคยได้ยินว่าต้องมีการจัดสรรเงินทุน (Money Management) เช่น แบ่งซื้อหลายๆไม้ แบ่งสัดส่วนซื้อ 20:30:50 เป็นต้น

แต่ในการเดย์เทรดเราลงทุนเพียงระยะสั้นๆ การแบ่งไม้ย่อยๆอาจทำให้การเทรดของเราซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม และไม่แน่ว่าจะให้ผลที่ดีขึ้นจริงหรือเปล่า

ซื้อไม้เดียว All in ไปเลย ถ้าผิดก็ออกมาเริ่มใหม่ทั้งก้อน ทั้งนี้เราอาจจะไม่ต้องซื้อด้วยเงินทั้งหมดหน้าตักของเราตามความหมายทีเดียว แต่หมายถึงซื้อไม้เดียวจบ (เช่นมี 100 แบ่งมาซื้อ 20 แล้วจบไป)

6)ใช้กลยุทธ์เดียว

ในการศึกษากลยุทธ์การซื้อขายหรือ Trade Set Up นักลงทุนอาจมีความรอบรู้หลายกลยุทธ์ หลายวิธีการ เช่น Breakout Buy-on-dip Sculping Swing-trade ฯลฯ

ให้เราเลือกมาเพียงหนึ่งกลยุทธ์ที่เราจะสามารถโฟกัสและดีไม่ดีอาจช่วยให้เราพัฒนาแนวทางที่เชี่ยวชาญได้ด้วย

7)เทรดแค่ Product เดียว

ในตลาดหุ้นนอกเหนือจากหุ้นแล้ว นักลงทุนสามารถเทรด DW (Derivatives Warrant) ส่วนในตลาด TFEX ก็สามารถซื้อขาย SET50 หรือทองคำได้ด้วย ซึ่งแต่ละ Product ก็มีรูปแบบการซื้อขาย การทำกำไร การวางเงิน วางกลยุทธ์ต่างกัน

การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอาจส่งผลให้การเทรดสะดุดและไม่ให้ผลดีที่สุดได้

8)เทรดแค่ Time Frame เดียว

การเลือก Time Frame ก็คล้ายๆกับการเลือกเทรดแต่ละ Product ที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด จะเป็น 1 นาที 3 นาที 5 15 30 60 นาทีก็โฟกัสไปที่ TF เดียว จะได้ไม่มีความแตกต่างในการตัดสินใจและจะได้ช่วยให้เรารู้ว่ากลยุทธ์ไหนเหมาะสมกับการเทรดของเราด้วย

9)รอให้เป็น เทรดให้น้อยลง

ถ้าเราทำตามคำแนะนำมาตลอดทุกข้อ ทั้งเอา Indicator ออก ลดข่าว เจาะจงกลยุทธ์เดียว Product เดียว TF เดียว น่าจะทำให้การเทรดของเราน้อยครั้งลง

นี่เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ อาจจะมันมือน้อยลงแต่ให้นึกภาพเสมือนเราเป็นนายพราน หรือ sniper ที่ต้องรอให้เป้าหมายมาอยู่ในจุดที่พอเหมาะและเรายิงในหวังผลได้

คำแนะนำทั้ง 9 ข้อนักลงทุนอาจจะไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมด เลือกทำในสิ่งที่ถนัด หรือจะลองทำทั้งหมดก่อน ข้อไหนดีก็ทำต่อ ข้อไหนไม่ดีก็ไม่เป็นไร เชื่อว่าจะช่วยให้การเดย์เทรดเรียบง่ายและได้ผลดีมากขึ้นครับ

Simplicity is the ultimate sophistication. – Leonardo Da Vinci

Reference : https://www.tradingsetupsreview.com/9-ways-simplify-day-trading/

Advertisement

หนังสือที่อ่านจบในไตรมาส1/20 ที่ผ่านมา

ปี 2020 นี้ตั้ง Personal OKRs เกี่ยวกับเรื่องการอ่านหนังสือว่าจะอ่านจบทั้งหมด 20 เล่ม ดังนั้นเมื่อย่อยลงมาเป็น OKRs รายไตรมาสก็จะต้องอ่านจบ 5 เล่ม

สุดท้ายอ่านจบครบ 5 เล่มในวันสุดท้ายของไตรมาสพอดี ขออนุญาตเอามาแชร์เผื่อเป็นประโยชน์ครับ

เล่มแรกเคยรีวิวไปแล้วได้แก่ Radical Focus อยากสำเร็จต้องโฟกัสด้วยแนวคิด OKR ผู้เขียน Christina Wodtke แปลโดย ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ และ ดร.บรรจงจิต ร่มโพธิ์

หนังสือมี 199 หน้า เนื้อหาเกี่ยวกับการนำ OKR ไปใช้พัฒนาการดำเนินงานของกิจการ

Radical Focus อยากสำเร็จต้องโฟกัสด้วยแนวคิด OKR

เล่มที่สอง The Hard Thing About Hard Things โดย Ben Horowitz แปลโดยคุณวิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา หนังสือมี 351 หน้า

Ben Horowitz เล่าถึงเรื่องราวของตัวเองซึ่งเคยเป็น CEO และผู้ก่อตั้งของบริษัท Start up สายเทคโนโลยี มีประสบการณ์ในการฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจ และเคยประสบความสำเร็จในการขายกิจการได้ด้วยราคาสูง ปัจจุบันเป็นนักลงทุนร่วมทุน

เนื้อหาในหนังสือยังให้ทักษะกับคนที่จะดำรงตำแหน่ง CEO ที่ต้องดูแลธุรกิจรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น การบริหารในช่วงเวลาที่ยากลำบาก การรับและปลดพนักงาน การสื่อสารในองค์กร การสร้างวัฒนธรรม การแก้ปัญหาต่างๆ จนถึงการขายกิจการ

เล่มนี้ได้ความรู้แล้วก็มันส์ดีด้วย และน่าจะเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน

The Hard Thing About Hard Things

เล่มที่สามมาอ่านหนังสือของ ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์อีกเล่มหนึ่งคือ The Happiness ความสุขปัจจุบันสุทธิ ความหนา 213 หน้า

เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความของอาจารย์นภดลที่เขียนผ่าน Blog Noppadol’s Story และสะสมมาจากแหล่งอื่นๆ นำเสนอเป็นตอนสั้นๆ อ่านง่ายและได้แง่คิดที่ดีในการดำเนินชีวิต สามารถเอาไปปรับใช้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

มีตอนที่ชอบหลายตอนขอยกตัวอย่างเช่น เราควรอดทนในสิ่งที่ควรอดทน, “ได้..ถ้า”กับ “ไม่ได้..เพราะ”, มาผัดวันประกันพรุ่งกันเถอะ, วิธีจัดการกับ Midlife Crisis, เวลามันย้อนกลับไปไม่ได้ และความคิดสร้างสรรค์มันมาแล้วก็ไป เป็นต้น

The Happiness ความสุขปัจจุบันสุทธิ

เล่มที่สี่ยังคงหาเรื่องสั้นๆมาอ่าน คือ One Plus One Equals Three หนึ่ง บวก หนึ่ง เท่ากับ สาม หนังสือโดย Dave Trott ผู้แปลคุณพราว อมาตยกุล หนา 270 หน้า

ผู้เขียนเป็นคนทำงานในวงการโฆษณา ส่วนเนื้อหาในหนังสือให้แง่มุมในแง่ความคิดสร้างสรรค์ การคิดต่าง การมีมุมมองใหม่ ผ่านเรื่องเล่าที่มาจากหลายแหล่ง คม แต่ละเรื่องอ่านไปก็น่าติดตาม อ่านจบเรื่องแล้วก็ได้แนวคิดใหม่ๆ

One Plus One Equals Three หนึ่ง บวก หนึ่ง เท่ากับ สาม

เล่มสุดท้ายแม้อ่านจบในไตรมาสแต่จริงๆเป็นหนังสือที่อ่านมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 เท่ากับใช้เวลาอ่านถึง 8 เดือน! (แม้ระหว่างทางจะแวะไปอ่านเล่มอื่นบ้าง)

คือหนังสือ Principles โดย Ray Dalio หนา 591 หน้า แปลโดยคุณจอมทรัพย์ สิทธิพิทยา

ที่อ่านนานเพราะว่าอ่านไปจดบันทึกไปเพราะคิดว่าอ่านหนังสือที่มีชื่อเสียงและหนาขนาดนี้น่าจะจดไว้หน่อย ก็เลยใช้เวลาอย่างยาวนาน แต่ก็คุ้มค่าเพราะว่าได้รู้เรื่องราวประสบการณ์ของ Ray Dalio ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียง ส่วนหลักการในหนังสือก็ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบ สามารถเอาไปใช้ได้ทั้งในการดำเนินชีวิต และการทำงาน ละเอียดมากๆ

Principles

จบไปทั้งหมด 5 เล่มเป็นหนังสือที่ดีและมีประโยชน์มากๆ ถ้ามีโอกาสอาจจะเอามาเขียนถึงแต่ละเล่มแบบละเอียดอีกครั้งหนึ่งครับ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านครับ