TGIF!!! วันศุกร์ กับ อัตราผลตอบแทน

concept-1868728__480.jpg

วันนี้ขอแชร์งานเขียนเก่าที่เคยเขียนตอนทำเพจ

เกี่ยวกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นในวันศุกร์ครับ

 

TGIF!!! วันศุกร์ กับ อัตราผลตอบแทน

สวัสดีวันศุกร์วันส่งท้ายสัปดาห์ของตลาดหุ้นครับ ได้ยินกันบ่อยๆเวลาตลาดหุ้นเปิดล่วงเลยมาจนถึงวันศุกร์โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ ที่ว่า “วันนี้ตลาดน่าจะลง เพราะคนขายหนีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์” “ขายก่อนดีกว่าระวังวันหยุดเหตุการณ์ไม่แน่นอน” “วันศุกร์ไม่มีใครซื้อหุ้นหรอก” ฯลฯ เกิดสงสัยขึ้นมาว่าจริงๆแล้วมันเป็นอย่างนั้นรึเปล่าก็เลยไปหาข้อมูลมาแล้วก็พบข้อมูลของตลาดบ้านเราซะด้วย วันนี้เลยเอามาแบ่งปันครับ

งานวิจัยในปี 2559 โดย ศ.ดร.อัญญา ขันธวิทย์ และ ผศ.อบรม เชาวน์เลิศ แห่งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “การทวนสอบเหตุการณ์วันของสัปดาห์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ได้ทำการศึกษาเหตุการณ์ที่เรียกว่า day-of-the-week (DoW) effect ว่าวันแต่ละวันในสัปดาห์ (จันทร์-ศุกร์) ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนในวันใดอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

Click to access Dec-2016-Obrom.pdf

ผลปรากฏว่าอัตราผลตอบแทนมีนัยสำคัญจริงๆในวันศุกร์ แต่ว่าเป็นผลตอบแทนด้านบวก!!! แสดงว่าที่พูดกันว่าตลาดวันศุกร์จะหงอยจะลงนั้นอาจจะไม่ได้เป็นจริง การศึกษานี้ใช้ข้อมูลช่วงปี 2545-2558 ก็เป็นปัจจุบันและยาวนานพอสมควร ในขณะเดียวกันการศึกษายังพบว่าผลตอบแทนของตลาดมีนัยสำคัญในวันจันทร์ด้วย แต่ผลตอบแทนเป็นลบ

งานวิจัยยังทำการศึกษาลึกลงไปถึงคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้ข้อสรุปที่ว่า ที่ผลตอบแทนของตลาดเป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญในวันศุกร์เกิดจากคำสั่งซื้อจำนวนมากที่มาจากนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศ ช่วยผลักดันให้ราคาสูงขึ้นและมีผลตอบแทนในวันศุกร์เป็นบวก ส่วนคนที่ขายคือนักลงทุนรายย่อยในประเทศและบริษัทหลักทรัพย์ (Prop. Trade) แต่แรงขายยังสู้แรงซื้อไม่ได้สุดท้ายผลตอบแทนเลยออกมาเป็นบวก ส่วนวันจันทร์ที่เป็นลบก็เพราะเจอแรงขายของทั้งนักลงทุนกลุ่มสถาบันในประเทศ นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อยในประเทศ (รุมขาย)

สรุปสิ่งที่น่าสนใจในงานวิจัยนี้ครับ

***อัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นเป็นบวกในวันศุกร์ เกิดจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ

***เหตุการณ์ DoW ที่เกิดในวันศุกร์เกิดเฉพาะกับหุ้นใน SET เท่านั้น ไม่เกิดกับหุ้นใน MAI (ก็สอดคล้องกับแรงซื้อที่ว่าเป็นของสถาบันและต่างชาตินะ เพราะว่าสัดส่วนของวอลุ่มการซื้อขายในช่วงที่ศึกษา ของ MAI เป็นรายย่อยเล่นกันเกือบ 96% คือ MAI นี่รายย่อยเล่นล้วนๆ)

***เคยมีสมมติฐานว่าที่มีแรงซื้อหุ้นในวันศุกร์มากๆเนี่ยเพราะว่ามันได้ตัดเงินช้ากว่าปกติรึเปล่า ผลการศึกษาก็พบว่าไม่ใช่ เพราะไม่งั้นต้องเกิดผลตอบแทนเป็นบวกด้วยกับ MAI แต่ในกรณีนี้เกิดขึ้นกับหุ้นใน SET เท่านั้น

***ในเชิงจิตวิทยาก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าวันศุกร์นักลงทุนมีความสุขแฮปปี้ ส่วนวันจันทร์รู้สึกเซ็งๆก็เลยส่งผลต่อผลตอบแทนของตลาดหุ้นรึเปล่า ก็อธิบายได้เหมือนกันคือถ้าเป็นก็ต้องเป็นทั้งตลาด แต่ในกรณีนี้หุ้น MAI ไม่เกิด

***เนื่องจากตลาดบ้านเราเดี๋ยวนี้มี SBL (ยืมหุ้นมาขาย Short) อีกแนวทางหนึ่งจึงมองว่าคนที่เล่น SBL อาจจะไม่อยากถือสถานะข้ามสัปดาห์รึเปล่า ทำให้ต้องซื้อหุ้น cover สถานะ ทำให้วันศุกร์มีผลตอบแทนเป็นบวก ผลปรากฏว่าพอลองคำนวณเฉพาะหุ้นที่เล่น SBL ได้ ผลตอบแทนวันศุกร์ก็ยังเป็นบวกอยู่ดี

***อีกประเด็นที่มีการศึกษาไว้คือนักลงทุนสถาบันและต่างชาติเป็นนักลงทุนรายใหญ่ มักจะได้รับข้อมูลก่อนนักลงทุนอื่นๆ และเพราะว่าคำแนะนำต่างๆมักจะออกในวันศุกร์ (แต่พวกนี้เขาได้รับคำแนะนำไปก่อนแล้ว เช่น พฤหัสบดี) ดังนั้นนักลงทุนเหล่านี้ก็รู้ก่อนแล้วก็ซื้อก่อน ส่งผลให้มีแรงซื้อและผลตอบแทนเป็นบวกในวันศุกร์

***อัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นเป็นลบในวันจันทร์ เกิดจากแรงขายของนักลงทุนสถาบัน ต่างชาติและรายย่อย

***ในช่วงเวลาที่ศึกษา วอลุ่มตลาดวันจันทร์มักจะน้อย ดังนั้นพอเจอแรงขายของนักลงทุนเหล่านี้ ถึงแม้ขายไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับวันอื่น ผลตอบแทนก็เป็นลบได้

***สาเหตุที่นักลงทุนสถาบันหรือต่างชาติมีแรงขายในวันจันทร์ มีคนศึกษาไว้น่าสนใจสองประเด็น 1)นักลงทุนกลุ่มนี้ไม่กล้าทำสถานะซื้อในวันจันทร์เพราะกลัวโดนคนที่รู้ข้อมูลต่างๆ (informed traders) ในวันเสาร์-อาทิตย์มาขายใส่ 2)อีกกรณีหนึ่งคือวันจันทร์ยังวางแผนกลยุทธ์กันอยู่ (Strategic planning day)

สรุป : งานวิจัยที่เอามาแบ่งปันวันนี้บ่งบอกว่าตลาดวันศุกร์ที่เรามองว่าหงอยเหงาหรือว่ามีความเสี่ยงที่จะเจอแรงขาย จริงๆแล้วกลับมีผลตอบแทนรายวันเป็นบวกอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลนี้น่าจะช่วยในการพิจารณาสำหรับ Day traders หรือนักเก็งกำไรหุ้นที่เล่นสั้นในวันได้ครับ

Advertisement

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s