ช่วงนี้ประเทศไทยสัมผัสกับความหนาว อุณหภูมิลดลงทั่วประเทศ ทำให้ทุกคนได้คึกคักกับบรรยากาศของหน้าหนาว สิ่งที่ทุกคนถามกันเมื่อพบกับวันที่อากาศหนาวก็คือ…
จะหนาวไปอีกนานไหม? หนาวไปอีกกี่วัน?
เป็นหน่วยงานที่โดนแซวเยอะมากๆสำหรับ กรมอุตุฯ ไม่ว่าจะพยากรณ์ว่าฝนตก อากาศหนาว พายุเข้า ฯลฯ ส่วนมากโดนแซวและมีคำถามเกิดขึ้นเช่นกันว่า…
แม่นจริงหรือเปล่า?
วันนี้เลยพามาดูว่า ทำไมพยากรณ์อากาศถึงแม่นยาก และมักจะผิดบ่อยๆ
- การพยากรณ์อากาศต้องใช้ข้อมูลเยอะมากๆ ทุกวันนี้มีสถานีตรวจอากาศอยู่ทั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่งที่คอยเก็บรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิ ความกดอากาศ ความชื้น ความเร็วลม-ทิศทางกระแสลม ฝนตก และอื่นๆ ยังไม่รวมถึงเครื่องบิน เรือเดินสมุทร บอลลูนตรวจอากาศที่ก็ช่วยกันทำงาน เพื่อส่งต่อข้อมูลมายังสถานีภาคพื้น
- เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ยังต้องเอามาประมวลด้วย super computer ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณ การทำแผนที่อากาศ โดยการพยากรณ์ก็จะทำโดยการเทียบสภาพที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน กับรูปแบบเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
- หลังจากได้ข้อมูลจาก super computer แล้ว ผู้พยากรณ์ยังต้องมาใช้ความสามารถในการแปลข้อมูล ความหมาย เปรียบเทียบกับหลายๆการคำนวณ จึงออกมาเป็นผลการพยากรณ์
- ดังนั้นผลของการพยากรณ์ ถ้าจะให้แม่น ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลดิบที่ส่งมาว่ารวดเร็ว ทันเหตุการณ์ขนาดไหน
- นอกจากนี้ เรื่องของพื้นที่ยังมีส่วนทำให้การพยากรณ์ผิดพลาด เช่น พื้นที่แห้ง กับ พื้นที่หิมะตก อาจอยู่ห่างกันแค่เพียง 48 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้น ด้วยระยะทางที่ใกล้กันมากๆ แต่มีความต่างขอสภาพอากาศ คนในพื้นที่ก็อาจมองว่าไม่แม่นได้ง่าย
- หรือกระทั่งอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ก็อาจจะไม่แม่นยำได้ เทอร์โมมิเตอร์ บอลลูนตรวจอากาศ ฯลฯ หรือรวมถึงปัจจัยของคนด้วย
- อย่างไรก็ดีสถานการณ์ของการพยากรณ์อากาศตอนนี้ก็ดีขึ้นมากๆแล้ว การพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 5 วันในสมัยนี้ มีความแม่นยำพอๆกับการพยากรณ์ล่วงหน้าแค่ 2 วันเมื่อ 30 ที่แล้ว คุณภาพของ super computer ก็ดีขึ้นเรื่อยๆทำให้ไม่ต้องเดาเยอะเหมือนแต่ก่อน และเดี๋ยวนี้นักพยากรณ์อากาศสามารถแบ่งพื้นที่โลก (ที่เป็นตารางๆ) สำหรับพยากรณ์ เหลือเพียง 13 ตร.กม. จากสมัยก่อนที่เป็นตาราง 338 ตร.กม. คือละเอียดขึ้นมาก
- เป้าหมายของการพยากรณ์อากาศ คืออยากจะให้เกิดความแม่นยำและรวดเร็วเหมือนกับ Google Map ที่เราใช้ดูสภาพการจราจรแบบ real-time เลยทีเดียว
ถ้าแม่นยำขนาดนั้น…เราคงอดแซวกรมอุตุฯกันละ
เล่าสู่กันฟัง สุขสันต์อากาศหนาวครับ
อ้างอิง The Economist